วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

3. หลักการจัดการความรู้


               วิจารณ์ พานิช (2549 : 23-24) หลักจัดการความรู้ หรือเคเอ็ม (KM = Knowledge Management) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด
            โดยที่ความรู้มี 2 ประเภท คือ 1) ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม 2) ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
            
                บูรชัย  ศิริมหาสาคร (2548 : 56-58) ได้กล่าวว่า หลักการจัดการความรู้ มีแนวคิดที่เชื่อว่า บุคลากรเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร (People are our most important asset) โดยเชื่อมั่นว่า บุคลากรเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้องค์กรบรรลุจุดประสงค์และเป้าหมายได้ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันซึ่งถือว่า เป็นยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge – based Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ที่ทำให้เกิดการเติบโตและสร้างงานในอุตสาหกรรม ทุกรูปแบบการที่องค์กรจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวงจรการเรียนรู้ในองค์กรโดยมีกระบวนการที่เป็นระบบในการค้นหา สร้าง รวบรวม จัดเก็บ เผยแพร่ ถ่ายทอด แบ่งปันและใช้ความรู้  ส่วน วันทนา เมืองจันทร์ (2548) ยังมีแนวคิดของการจัดการความรู้ ว่า รูปแบบวิธีการพัฒนาให้ส่วน ราชการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ วิธีหนึ่ง คือ การจัดการความรู้
            
                 นพ.วิจารณ์ พานิช  (2544 : 12-14) ได้กล่าวว่า การจัดการความรู้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ 4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน

กล่าวโดยสรุป
            หลักการจัดความรู้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด

ที่มา

              วิจารณ์ พานิช.  (2549). การจัดการความรู้ฉบับนักปฏิบัติ. กรุงเทพ : บริษัทตถาดา พับลิเคชั่น.
      
               บูรชัย  ศิริมหาสาคร . (2548). องค์การแห่งความรู้: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์รัตนไตร.

              นพ.วิจารณ์ พานิช . (2544).  การจัดการความรู้ . กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ ห้างหุ้นส่วน  จำกัด โรงพิมพ์อักษรไทย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น