วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

7. ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการความรู้

ยุทธนา แซ่เตียว (2547 : 76)  กล่าวไว้ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการถ่ายทอดความรู้ภายในองค์กรได้แก่วัฒนธรรมขององค์กรในการถ่ายทอดความรู้ระหว่างบุคคลภายในองค์กรด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหาอยู่เสมอก็คือ การที่ผู้ที่มีความรู้นั้นไม่อยากถ่ายทอด หรือเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า อมภูมิซึ่งอาจเป็นเพราะการมีความรู้ดังกล่าวทำให้บุคคลนั้นมีอำนาจ มีความสำคัญ บางองค์กรทำให้ปัญหาดังกล่าวนี้เลวร้ายมากยิ่งขึ้นด้วยการประเมินบุคลากรจากความรู้ที่มี โดยไม่ให้โอกาสในการสนับสนุนบุคลากรอย่างทั่วถึง หรือแม้แต่การนำความรู้มาใช้เพื่อเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองภายในองค์กรอีกด้วย ในขณะที่ฟากผู้รับความรู้ ก็เกิดปัญหาความไม่ยอมรับในตัวผู้ถ่ายทอดความรู้โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบุคลากรระดับเดียวกัน เคยปฏิบัติงานร่วมกันมานาน  บุคคลที่มีประสบการณ์มากกว่าความรู้ มักจะเปิดรับความรู้จากการถ่ายทอดในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ยาก หรือบางองค์อรมีวัฒนธรรมการแข่งขันที่สูงมาก ลำพังจะทำให้พนักงานมีความรักความสามัคคีกันก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว  เมื่อต้องมีการแข่งขันกันยิ่งทำให้การรับและถ่ายทอดความรู้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรอีกลักษะหนึ่งคือ  บุคคลขาดความกระตือรือร้นในการหาความรู้โดยทั่วไปการหาความรู้ของบุคลากรมักจะมีแนวโน้มที่ถดถอยลงเมื่ออายุสูงขึ้น เรียกว่าทำงานอยู่ตัวแล้ว ก็เลยพยายามทำงานจากทักษะหรือประสบการณ์มากกว่าการใช้ความคิดที่ได้จากการเรียนรู้มาพัฒนาตนเอง

ไพโรจน์ ชลารักษ์ (2551 : 89)  กล่าวว่า ปัจจัยหรือองค์ประกอบของความรู้(factors of knowledge) ต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกดังนี้
ปัจจัยภายนอก หมายถึง สิ่งที่คนสามารถรับรู้ (perceive) หรือสัมผัส แล้วทำให้เกิดความรู้ขึ้นในตัวคนได้แก่ ข้อเท็จจริง (fact) หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ (phenomena) สิ่งเหล่านี้นั้นมีอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่ (being) เป็นปกติมาก่อนกำเนิดของมนุษย์แล้วไม่ว่าจะมีมนุษย์เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม และเมื่อมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านนี้ก็ยังคงมี เป็นอยู่ หรือดำรงอยู่เช่นเดิม มนุษย์มีศักยภาพในการรับรู้หรือสัมผัสสิ่งเหล่านนี้ได้ ข้อมูล (data)เป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติ (name) ขึ้นจากการได้รับรู้หรือสัมผัสปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วจำแนกแยกแยะ (identifying) จดจำหรือทำการบันทึก(recording)  และแจงนับ (numbering) ไว้เมื่อใดที่มนุษย์รับรู้หรือสัมผัสข้อมูลก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาได้เช่นกัน สารสนเทศ (information) หมายถึงข้อมูลที่ได้รับการจัดกระทำโดยมนุษย์เพื่อให้มีความหมายสำหรับใช้สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันให้กว้างขวางขึ้น เมื่อมนุษย์รับสารสนเทศแล้วก็จะนำไปผสมผสานกับข้อมูล หรือความรู้เดิมทำให้เกิดความรู้ใหม่ เหตูการณ์ (event) หมายถึง ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วดำเนินไปหรือดำรงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งไม่นานนักแล้วก็สิ้นสูญหรือหยุดไป ปัจจัยภายใน หมายถึง ภาวะในตัวมนุษย์เอง ณ เวลาที่ได้รับรู้หรือสัมผัสปัจจัยภายนอกว่าพร้อมที่จะรู้ได้เพียงใด หากอยู่ในภาวะไม่พร้อมก็อาจไม่เกิดความรู้ได้หรืออาจไม่รับรู้เอาเลย จิต (mind) เป็นธาตุ (element) นามธรรม (abstract) ที่เป็นตัวรู้ สรรพสิ่ง ในคำสอนของพระพุทธศาสนาอธิบายว่าจิตเปลี่ยนแปลงง่ายๆและเร็วมากเปลี่ยนแปลงตลอกเวลาไม่อยู่นิ่งจึงสามารถสัมผัสและรับรู้สิ่งต่างๆได้รวดเร็วและแต่มากแต่ถ้าเมื่อใดที่คนสามารถทำให้จิตของตนหยุดนิ่งเป็นสมาธิ อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจะเกิดความสะว่างเป็นปัญญาได้และจะไม่รับรู้สิ่งภายนอกอื่นอีกเลย อารมณ์ (emotion) หมายถึงภาวะจิตที่นิ่งหรือมุ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นกระแสติดต่อกันยาวนานโดยสิ่งอื่นไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าแทนได้

บดินทร์ วิจารณ์. (2547 : 65) กล่าวไว้ว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการความรู้การจัดการความรู้ได้สำเร็จแท้จริงหมายความว่า ใช้ความรู้แก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่สำเร็จ ลุล่วงได้ผลลัพธ์สมสมตามความมุ่งหวังที่ตั้งไว้แต่แรก ความสำเร็จในการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาจึงมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ ปัจจัยในตัวคนหรือปัจจัยภายในองค์กร หมายถึงส่วนประกอบที่เป็นคุณสมบัติของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่จะใช้แก้ปัญหาภายในนั้นถ้าเป็นปัญหาส่วนตัวของบุคคลเดียวก็หมายถึงปัจจัยในตัวบุคคลที่เผชิญปัญหานั้นเอง เช่น ความรู้จักและเข้าใจหรือตระหนักความเป็นปัญหามากน้อยเพียงใดกำลังใจความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหามีมากน้อยเพียงใด ความคาดหวังอยากจะให้เป็นไปของปัญหาเป็นอย่างไร และความรู้ที่จะใช้แก้ปัญหามีมากหรือน้อยหรือมีความเหมาะสมเพียงใดเป็นต้น หากเป็นปัญหาในองค์กร ปัจจัยภายในองค์กรได้แก่จำนวนคนในองค์กรความสัมพันธ์ของบุคลากร ปัจจัยภายในองค์กรทัศนคติความมุ่งหวังของคนในองค์กร เอกภาพความสามัคคีของคนในองค์กรและอื่นๆ ถ้าหากเป็นปัญหาสาธารณะ การจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาสาธารณะให้สำเร็จนอกจากต้องอาศัยปัจจัยทั้งแบบส่วนตัว ปัจจัยลักษะกลุ่มหรือองค์กรแล้วยังต้องคำนึงถึงบรรยากาศ ความรู้สึกและท่าทีทัศนะของผู้ร่วมเผชิญปัญหาด้วยว่าตระหนักถึงความสำคัญของการแสวงหาความรู้และร่วมมือร่วมใจกันใช้ความรู้แก้ปัญหาอย่างจริงจังหรือจริงใจหรือไม่ โดยสรุปแล้วการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหามีปัจจัยภายในสำคัญ 3 ส่วนคือ ความรู้อันได้แก่ ความรู้ที่ต้องการจัดการกับความรู้ที่จะใช้จัดการความรู้เรื่องนั้น ส่วนที่สองคือความเต็มใจและความตั้งใจในการจัดการ และส่วนที่สามได้แก่ความร่วมมือในการปฏิบัติ ปัจจัยภายนอก หมายถึงส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่เกี่ยวกับความรู้และกระบวนการในการแก้ปัญหาซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 4 ปัจจัยย่อยดังนี้แหล่งความรู้ที่จะใช้แสวงหาเพื่อสนับสนุนการใช้ความรู้มีหรือไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงใด แหล่งสนับสนุนด้านเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุ หรือทรัพยากรต่างๆที่ใช้เพื่อการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหา เช่น การจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียของชุมชนเมื่อได้ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาน้ำเสียได้แล้วจำเป็นต้องหาสถานที่ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ เวลาและการแสวงหาวิธีการทำงานที่ดีจึงจะแก้ปัญหาน้ำเสียได้สำเร็จ โอกาสและวิธีการทำงานที่เหมาะสมโอกาส หมายถึง ช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่จะทำงานบางอย่าง และโอกาสนั้นสัมพันธ์กับวิธีการทำงานด้วยการแก้ปัญหาเดียวกันแต่ต่างเวลากันอาจต้องใช้วิธีการต่างกัน มิฉะนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จได้ ความร่วมมืออย่างจริงใจและจริงจัง ของผู้เกี่ยวข้องซึ้งบางโอกาสอาจไม่ใช่ผู้รับผลจากการแก้ปัญหาโดยตรง เช่น องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานราชการที่เข้าไปร่วมมือช่วยหรือหรือสนับสนุนชุมชน หรือบุคคล หรือองค์กรบางองค์กรให้สามารถใช้ความรู้เพื่อจัดการปัญหา ของชุมชนหรือองค์กรนั้น เมื่อเข้าถึงปัญหาได้แล้วผู้เข้าไปช่วยเหลือร่วมมือตามหรือที่ที่รับผิดชอบ แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนจากการแก้ปัญหาโดยตรงความจริงจังในการช่วยร่วมมือแก้ปัญหาอาจไม่เต็มที่หรือน้อยเกินไป ปัจจัยร่วมระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก หมายถึงสิ่งหรือ อะไรบางอย่างที่ทำหน้าที่ให้ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกทำงานร่วมกัน ได้อย่างราบรื่น และเกิดประสิทธิผล อาจเรียกสิ่งนี้ว่าการบริหารจัดการแต่เป็นการบริหารจัดการหรือการปฏิบัติเฉพาะกรณีแท้ๆ ที่เรียกว่า เคล็ดลับของความสำเร็จ เช่น เคล็ดลับการปรุงอาหารให้อร่อยกว่ากันจากสูตรผสมและกระบวนการปรุงเหมือนกัน แต่ได้รสชาติออกมาไมเหมือนกัน เป็นต้น ในการจัดการเรียนรู้นั้นผู้จัดการความรู้อาจต้องใช้ กลเม็ดบางอย่างเพื่อช่วยให้เกิดผลสำเร็จสูงกว่าปกติได้

สรุปได้ว่า
            มนุษย์ทุกคนมีปัญหาที่ต้องเผชิญและต้องแก้ไขให้ลุล่วงทุกวันจึงเรียกว่าปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นธรรมดาหรือเรื่องปกติของทุกคน ทุกสังคมต้องมีปัญหา โดยธรรมชาติของปัญหามีทั้งปัญหาเล็กและปัญหาใหญ่ ปัญหาส่วนตัวและปัญหาส่วนรวมซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์เองการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต้องใช้ความรู้และการจัดการความรู้อยู่ตลอกเวลาการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต้องจัดการอย่างเป็นระบบที่ดีมีวิธีการที่ดี มีการเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ แม้กระทั้งการจัดการความรู้ก็มีปัญหาและอุปสรรคในตัวเองเช่นกัน มนุษย์ทุกคนจึงควรสร้างและพัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการความรู้ไว้ให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

อ้างอิง
ยุทธนา แซ่เตียว.(2547).การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้: สร้างองค์กรอัจฉริยะกรุงเทพฯ :สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ.
ไพโรจน์ ชลารักษ์. (2551). การจัดการความรู้ : สังกัปทางทฤษฎี. พิมพ์ครั้งที่ 1.  นครปฐม :  เพชรเกษม พริ้นติ้งกรุป.
            บดินทร์ วิจารณ์. (2547). การจัดการความรู้สู่ปัญญาปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น